โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ
หน้าแรก  เกี่ยวกับ ร.พ.ภูมิพลอดุลยเดช 
สื่อประสมที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซ์ืที่เกี่ยวข้อง

e-Book หนังสืออนุสรณ์ 60 ปี

Link ที่เกี่ยวข้อง: readme

     โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เป็นหน่วยขึ้นตรงกรมแพทย์ทหารอากาศ พลอากาศโท หลวงเทวฤทธิ์พันลึก ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ และ นาวาอากาศเอก หลวงวีรเวชพิสัย ได้ริเริ่มดำเนินการขอพระราชทานพระปรมาภิไธยเป็นชื่อโรงพยาบาลทหารอากาศแห่งนี้ว่า "โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช" มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2492 โดยมี นาวาอากาศเอก ทิพย์ นาถสุภา เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช คนแรก ....อ่านต่อ 


 
  วันที่ 27 มีนาคมพุทธศักราช 2492 ถือเป็นวันสถาปนา โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช อย่างเป็นทางการ 

       ความเป็นมาของโรงพยาบาลที่ได้รับพระราชทานพระบรมนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน เป็นชื่อของโรงพยาบาลแห่งนี้ ได้เริ่มต้นจากการบริการทางการแพทย์ของกำลังทางอากาศที่มีประวัติมายาวนานก่อนที่จะถึงวันดังกล่าว ตั้งแต่เป็นหมวดพยาบาลหน่วยบินทหารบกมีเพียงเรือนไม้ชั้นเดียวเป็นที่ให้การดูแลผู้ป่วย  และยังต้องย้ายที่ตั้งไปหลายแห่งในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา จนในที่สุดจึงมีการก่อสร้างอาคารรักษาพยาบาลถาวร ณ ที่ตั้งของโรงพยาบาลในปัจจุบันซึ่งได้รับพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘)  เพื่อก่อสร้างสถานที่ตรวจรักษาพยาบาลและการแพทย์ของกองทัพอากาศใหม่ ต่อมาจึงเลื่อนฐานะเป็นโรงพยาบาลทหารอากาศ โดยเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกรมแพทย์ทหารอากศ  ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อโรงพยาบาลทหารอากาศแห่งนี้เป็น "โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช"  หลังจากนั้นได้มีการพัฒนาทั้งอาคารสถานที่ บุคลากร และระบบงานในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
      
       การกำเนิดอาคารคุ้มเกล้าฯ ซึ่งเป็นอาคารรักษาพยาบาลที่ได้รับการออกแบบและก่อสร้างอย่างทันสมัย มีระบบสนับสนุนการรักษาพยาบาลอย่างครบวงจร นับเป็นช่วงเวลาสำคัญในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคสมัยแห่งความก้าวหน้าของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชอีกช่วงหนึ่ง และนับเป็นก้าวสำคัญของโรงพยาบาลแห่งนี้ในการก้าวสู่โรงพยาบาลตติยภูมิที่ให้การรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพแก่ข้าราชการทหารอากาศ ข้าราชการทั่วไป ครอบครัว และประชาชนทุกก้าวย่างของความเป็นมาเป็นไปของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นการสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงให้กับโรงพยาบาลแห่งนี้ในการก้าวสู่โรงพยาบาลหลักของกองทัพอากาศ ที่ให้การรักษาพยาบาลระดับตติยภูมิที่มีคุณภาพระดับประเทศ รวมทั้งเป็นสถาบันฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน

ระยะเริ่มแรก

        หลังจากปี พ.ศ. 2454  ซึ่งได้มีการสาธิตการบินครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริให้มีการจัดตั้งกำลังทางอากาศในกองทัพ กองทัพอากาศได้กำเนิดขึ้นในกองทัพไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2456 ในระยะแรกนั้นเป็นเพียง "แผนกการบินทหารบก"  ขึ้นอยู่กับจเรทหารช่าง ตั้งอยู่ที่สนามราชกรีฑาสโมสร ตำบลปทุมวัน กรุงเทพมหานคร           
        5 มีนาคม 2457  แผนกการบินทหารบกย้ายไปตั้งที่ตำบลดอนเมือง (ที่ตั้งปัจจุบัน) และได้เลื่อนฐานะจากแผนกการบินทหารบกเป็น "กองบินทหารบก" เมื่อ 27 มีนาคม 2457  โดยมีฐานะเทียบเท่ากรม เมื่อย้ายมาที่ดอนเมือง การแพทย์ทหารอากาศได้รับการปรับปรุงอัตราขึ้นเป็น "หมวดพยาบาล กองบินทหารบก"  สถานที่ทำการในระยะแรกเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวหลังคามุงกระเบื้อง กว้าง 7 เมตร ยาว 24 เมตร มีขีดความสามารถเพียงการรักษาผู้ป่วยอาการเล็กน้อยเท่านั้น สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก ศิษย์การบินและผู้ทำการในอากาศต้องส่งไปรักษาและตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ส่วนยาและเวชภัณฑ์เบิกจากกรมแพทย์สุขาภิบาลทหารบก      
        พ.ศ. 2460  เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศไทยเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ประเทศไทยได้ส่งกำลังทหารไปร่วมสงครามในยุโรปเมื่อต้นปี พ.ศ. 2461 โดยส่งกำลังทหารไป 3 ส่วน กองบินทหารบก กองทหารบกรถยนต์ และหน่วยพยาบาล
        19 มีนาคม 2461 กองบินทหารบกได้ยกฐานะขึ้นเป็น "กรมอากาศยานทหารบก"  มีฐานะเทียบเท่ากองพล ขึ้นกับกรมเสนาธิการทหารบก เนื่องจากผลงานอันน่าชื่นชมในสงครามโลกครั้งที่ 1 และหมวดพยาบาลกองบินทหารบกได้รับการขยายตัวและยกฐานะขึ้นเป็น "หมวดพยาบาล กรมอากาศยานทหารบก"

       การลำเลียงทางการแพทย์ทหารอากาศครั้งแรกในปี พ.ศ. 2464 เกิดโรคระบาดที่จังหวัดอุบลราชธานี ทางการต้องจัดเครื่องบินลำเลียงทางการแพทย์ไปช่วยเหลือ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการและการแสดงการบินของกรมอากาศยานทหารบก ทรงพอพระราชหฤทัยมากมีรับสั่งให้ปรับปรุงกิจการบิน และเปลี่ยนชื่อกรมอากาศยานทหารบก เป็น "กรมอากาศยาน"  ทำให้กิจการแพทย์ทหารอากาศได้รับการปรับปรุงตามไปด้วย

        27 มิถุนายน 2464  การลำเลียงทางการแพทย์โดยอากาศยานเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อปราบปรามการระบาดของไข้ทรพิษและอหิวาตกโรค ที่อำเภอวารินทร์ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีการลำเลียงผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาที่กองเสนารักษ์ทหารบก กรุงเทพฯ ซึ่งจากการปฏิบัติการในครั้งนั้นได้รับการชื่นชมจากประชาชน และทางราชการเป็นอย่างมาก ต่อมาหมวดพยาบาลได้รับบริจาคเงินจากเจ้านายฝ่ายใน และผู้มีจิตศรัทธาซื้อ  "เครื่องบินพยาบาลขัติยะนารี 1" เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยตามจังหวัดต่างๆ
 




       พ.ศ. 2466  มีการเปลี่ยนชื่อกิจการการแพทย์ทหารจากคำว่า "พยาบาล" เป็น "เสนารักษ์" หมวดพยาบาลกรมอากาศยาน จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "หมวดเสนารักษ์ กรมอากาศยาน
       พ.ศ.  2478  กรมอากาศยานได้แยกตัวออกจากกองทัพบกเป็นหน่วยขึ้นตรงของกระทรวงกลาโหม เป็น กรมทหารอากาศ หมวดเสนารักษ์ กรมอากาศยานจึงเปลี่ยนเป็น "หมวดเสนารักษ์ กรมทหารอากาศ"
       6 กันยายน พ.ศ. 2480  กรมทหารอากาศได้เลื่อนฐานะขึ้นเป็นกองทัพอากาศ หมวดเสนารักษ์ กรมทหารอากาศจึงได้รับการขยายอัตราและเลื่อนฐานะเป็น "กองเสนารักษ์กองทัพอากาศ"  แบ่งส่วนราชการออกเป็น 4 หน้าที่ ได้แก่ หน้าที่อายุรกรรม หน้าที่ศัลยกรรม หน้าที่ทันตกรรม และหน้าที่เภสัชกรรม
       16 พฤษภาคม พ.ศ. 2483  กองทัพอากาศปรับปรุงการจัดส่วนราชการใหม่ และเปลี่ยนชื่อกองเสนารักษ์กองทัพอากาศ เป็น "กองเสนารักษ์ทหารอากาศ"  มีส่วนราชการขึ้นตรง 10 หน่วย ดังนี้ หน้าที่กองบังคับการ หน้าที่ห้องตรวจโรค หน้าที่อายุรกรรม หน้าที่ศัลยกรรม หน้าที่ทันตกรรม หน้าที่เภสัชกรรม หน้าที่จักษุกรรม หน้าที่โสต ศอ นาสิกกรรม หน้าที่พยาธิกรรม และหน้าที่เอกซเรย์

          ระยะนั้น นายร้อยเอก หลวงชำนิโรคศานต์ ได้ปรับปรุงกิจการแพทย์ทหารอากาศให้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมาก มีนายแพทย์ปริญญาสมัครเข้ารับราชการอีก 2 นาย คือ นายแพทย์ประสบ วรมิศร์ (เรืออากาศเอก ประสบ วรมิศร์)  และนายแพทย์ ชม เทพยสุวรรณ (เรืออากาศโท ชม เทพยสุวรรณ) พร้อมทั้งมีแพทย์โอนย้ายจากกรมแพทย์ทหารบกมาประจำกองเสนารักษ์ทหารอากาศอีกหลายนาย ได้แก่ นายร้อยเอก ทองคำ ระงับภัย นายร้อยตรี ประเทือง คงขำ (เรืออากาศโท ประเทือง คงขำ) นายร้อยตรีประหยัด กาญจนวิโรจน์ (นาวาอากาศเอก ประหยัด กาญจนวิโรจน์) นายร้อยตรี ทองกล อัศเวศน์ (เรืออากาศเอก ทองกล อัศเวศน์) 
 
                                 
  เรืออากาศโท ประสบ วรมิศร์     เรืออากาศโท ชม เทพยสุวรรณ 

                  
 เรืออากาศเอก ทองคำ ระงับภัย       เรืออากาศโท ประเทือง คงขำ
 
 
สถาปนากรมแพทย์ทหารอากาศ
    
            พ.ศ. 2484 ผู้บัญชาการทหารอากาศได้ขอพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) เป็นจำนวนเงิน 30,000.00 บาท เพื่อก่อสร้างสถานที่ตรวจรักษาพยาบาลและการแพทย์ของกองทัพอากาศใหม่ แต่ยังไม่ทันลงมือก่อสร้าง สงครามมหาเอเชียบูรพาก็อุบัติขึ้นในปลายปีนั้น  ในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา เจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาลของกองทัพอากาศผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนออกปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยเสนารักษ์สนามของฝูงบินและกองบินต่าง ๆ
 

          20  พฤศจิกายน  2486  กองเสนารักษ์ทหารอากาศได้เคลื่อนย้ายออกจากที่ตั้งดอนเมืองเป็นครั้งแรก เนื่องจากภัยสงคราม ไปตั้งที่ทำการชั่วคราวที่บริเวณชายป่า กองบินน้อยที่ 4 โคกกระเทียม จังหวัดลพบุรี

            
          
28  เมษายน  2488  บริเวณกองบินน้อยที่ 4  ถูกโจมตีทางอากาศบ่อยครั้ง และสถานที่ทำการของกองเสนารักษ์ทหารอากาศก็ถูกโจมตี ทำให้อาคารผู้ป่วย 2-3
หลังถูกไฟไหม้เครื่องมือเครื่องใช้เสียหาย จึงย้ายที่ตั้งไปอยู่ที่วัดโพธิ์งาม จังหวัดลพบุรี

          20  กรกฎาคม  2488  เมื่อภัยจากการโจมตีทางอากาศเบาบางลง กองเสนารักษ์ทหารอากาศจึงเคลื่อนย้ายจากวัดโพธิ์งามโดยทางเรือ ลงมาตั้งอยู่ที่วัดตลาดใต้ จังหวัดปทุมธานี โดยอาศัยศาลาการเปรียญเป็นที่ทำการและที่พักผู้ป่วย อาศัยโบสถ์เป็นคลังเก็บยาและเวชภัณฑ์ เนื่องจากวัดค่อนข้างคับแคบ จึงได้ก่อสร้างที่พักทหารเจ็บป่วยชั่วคราว 1 หลัง แต่การก่อสร้างยังไม่เสร็จเรียบร้อยสงครามยุติลงก่อน

          
          16  สิงหาคม  พ.ศ.  2488  สงครามมหาเอเชียบูรพายุติลงกองเสนารักษ์ทหารอากาศจึงได้รับคำสั่งให้ย้ายกลับที่ตั้งปกติ บริเวณดอนเมือง  24 พฤศจิกายน  พ.ศ.  2488  จึงเคลื่อนย้ายกองเสนารักษ์ทหารอากาศเข้ามาตั้งอยู่ที่อาคารใหม่ทางตะวันตกสุดด้านใต้ของสนามบิน ซึ่งเดิมเป็นที่ทำการของโรงเรียนการบิน เมื่อกองเสนารักษ์ทหารอากาศเข้าที่ตั้งบริเวณดอนเมืองยังไม่เรียบร้อยดี นายแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลหลายนายได้ขอลาออกจากราชการคงเหลือนายแพทย์เพียง  4  นาย คือ  นาวาอากาศเอก หลวงวีรเวชพิสัย   นาวาอากาศตรี ทิพย์ นาถสุภา เรืออากาศเอก สดับ ธีระบุตร  เรืออากาศเอก ระวิง สมบูรณวนิชย์  มีทันตแพทย์ 1 นาย คือ  เรืออากาศโท สวัตถิ์ ภูมิจิตร และเภสัชกร 1 นาย คือ เรืออากาศเอก เรียง ลุมพิกานนท์ กับนายทหารพยาบาลอีก 2 - 3 นาย

           

         ส่วนหมวดเสนารักษ์ตามกองบินน้อยต่าง ๆ ยังคงเหลือแพทย์ประจำอยู่คือ นาวาอากาศตรี ชม ชูเวช เรืออากาศเอก ประหยัด กาญจนวิโรจน์  และ เรืออากาศตรี เทอญ สุขะเนนย์
 

         นาวาอากาศเอก หลวงวีรเวชพิสัย รีบเร่งปรับปรุงกิจการแพทย์ทหารอากาศให้ดียิ่งขึ้นโดยวางแผนก่อสร้างอาคารสถานที่บนพื้นที่นาซึ่งได้ซื้อไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 ด้วยเงินพระราชทานฯ

 
                                      
     เรืออากาศเอก สดับ ธีระบุตร       เรืออากาศเอก ระวิง สมบูรณวนิชย์      นาวาอากาศเอก หลวงวีรเวชพิสัย

                                       
    นาวาอากาศตรี ทิพย์ นาถสุภา    เรืออากาศเอก ประหยัด กาญจนวิโรจน์    เรืออากาศเอก เทอญ สุขะเนนย์
 

                            
          1  กันยายน  พ.ศ.  2490  อาคารตรวจโรค  (อาคาร 1) ได้เริ่มก่อสร้างและแล้วเสร็จเมื่อ  19  เมษายน  2491  เป็นเงินค่าก่อสร้าง 910,000.00 บาท แต่ยังไม่มีอาคารผู้ป่วยจึงไม่สามารถย้ายเข้าไปปฏิบัติงานได้ จนกระทั่ง  1 กันยายน  2491  จึงได้ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยอีก 2 หลัง คือ อาคาร 4 และอาคาร 11
 

          9  พฤศจิกายน  2491  กองทัพอากาศได้ปรับปรุงกิจการของส่วนราชการใหม่ กองเสนารักษ์ทหารอากาศจึงได้ปรับปรุงและเลื่อนฐานะเป็น  "กรมแพทย์ทหารอากาศ" มีนายแพทย์ใหญ่ทหารอากาศเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบ ได้แบ่งส่วนราชการออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่ กองบังคับการ แผนกที่ 1 แผนกที่ 2 แผนกที่ 3 แผนกที่ 4 และ "โรงพยาบาลทหารอากาศ"

           
          1  มกราคม  2492   ทางราชการได้เลื่อนตำแหน่ง นาวาอากาศเอก หลวงวีรเวชพิสัย เป็นที่ปรึกษาเทคนิคการแพทย์ กรมเสนาธิการทหารอากาศ พร้อมทั้งให้พันเอก เจือ ปุญโสนี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะวิชา กรมแพทย์ทหารบกและรักษาราชการหัวหน้า แผนกที่ 1 ย้ายมาดำรงตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ ทหารอากาศ และได้รับพระราชทานยศเป็น พลอากาศตรีเรือ ปุญโสนี โดยมี นาวาอากาศโท ทิพย์นาถสุภา เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารอากาศเป็นคนแรก
 

       



 

 
สถาปนาโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช

           

            โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เป็นหน่วยขึ้นตรงกรมแพทย์ทหารอากาศ ในขณะนั้น พลอากาศโท หลวงเทวฤทธิ์พันลึก ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ และ นาวาอากาศเอก หลวงวีรเวชพิสัย ได้ริเริ่มดำเนินการขอพระราชทานพระปรมาภิไธยเป็นชื่อโรงพยาบาลทหารอากาศแห่งนี้ว่า   "โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช"  มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ    เมื่อวันที่       27 มีนาคม 2492   โดยมี นาวาอากาศเอก  ทิพย์ นาถสุภา  เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชคนแรก
 

           โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดดำเนินงานใน พ.ศ. 2492 มีอาคารที่ใช้ในการบริการผู้ป่วยเพียง 3 หลัง คือ อาคาร 1  อาคาร 4 และอาคาร 11 และมีเตียงรับผู้ป่วยได้ 88 เตียง พร้อมกับได้แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล ด้วยการรับบุคลากรเพิ่ม และส่งแพทย์ไปศึกษาอบรมต่อ ณ ต่างประเทศ เช่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกามีการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จนสามารถรับผู้ป่วยในได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยการสนับสนุนของผู้บัญชาการทหารอากาศตลอดมา

 
การปรับปรุงการจัดส่วนราชการ

            
         
24  ธันวาคม  2495  กรมแพทย์ทหารอากาศได้รับการปรับปรุงอัตรากำลังพลตามอัตรา ทอ. 2495 ด้วยเพื่อให้เหมาะสมกับกาลสมัยโดยมีหน่วยขึ้นตรงกรมแพทย์ทหารอากาศ 6 หน่วย ได้แก่ กองบังคับการ กองวิทยาการ กองเวชศาสตร์การบิน กองสุขาภิบาลและอนามัย กองคลังเวชบริภัณฑ์ และโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
 

         โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ได้ปรับส่วนราชการแบ่งออกเป็น 16 ส่วนคือ แผนกบริการ หมวดธุรการ ฝ่ายพลาธิการ ฝ่ายการเงิน ฝ่ายทะเบียน แผนกตรวจโรค แผนกอายุรกรรม แผนกศัลยกรรม แผนกจักษุ โสต ศอ นาสิกกรรม แผนกสูตินรีกรรม ฝ่ายทันตกรรม แผนกรังสีและกายบำบัด แผนกพยาธิกรรม ฝ่ายเภสัชกรรม แผนกพยาบาล หมวดจ่าพยาบาล และหมวดนางพยาบาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรับพระราชทานยศนาวาอากาศเอกพิเศษ

           

        1  มกราคม  2498  ได้มีการปรับส่วนราชการของกองทัพอากาศใหม่สำหรับโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ได้ปรับปรุงส่วนราชการเป็น 14 ส่วน โดยมี 3 แผนกที่ได้รับการตั้งขึ้นจากเดิมที่เป็นเพียงฝ่ายคือ แผนกทะเบียน แผนกทันตกรรม และแผนกเภสัชกรรม

           

        ปลายปี  พ.ศ.2506  โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช  ได้มีการปรับส่วนราชการอีกครั้งโดยมีแผนกรังสีกรรม แผนกกายภาพบำบัด แผนกจักษุกรรม และโสต ศอ นาสิกกรรม เลื่อนฐานะของแผนกอายุรกรรม และแผนกศัลยกรรมขึ้นเป็นกองอายุรกรรม กองศัลยกรรม แผนกกุมารเวชกรรม แยกออกจากกองอายุรกรรม
 
การปรับปรุงอาคารสถานที่

           

            พ.ศ.  2499  อาคารต่าง ๆ ในโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ก่อสร้างเรียงรายเป็น 3 แถว แนวกลางประกอบด้วยอาคารตรวจโรคผู้ป่วยนอก (อาคาร 1) อยู่หน้าสุด ถัดไปเป็นอาคารห้องผ่าตัด (อาคาร 2)  แล้วมีสนามหญ้าคั่นก่อนที่จะถึงอาคารกองอำนวยการ(อาคาร 7) และอาคารผู้ป่วยสูตินรีกรรม (อาคาร 8)

           

          ทางด้านเหนือหน้าสุดเป็น อาคารตรวจโรคตา, หู คอ จมูก (อาคาร 3) ถัดไปเป็นอาคารผู้ป่วยศัลยกรรมหญิง (อาคาร 4) อาคารผู้ป่วยอายุรกรรมและกุมาร (อาคาร 5) อาคารผู้ป่วยอายุรกรรมชาย (โรคติดต่อ) และผู้ป่วย ตา หู คอ จมูกชาย (อาคาร 6)

           

            ทางด้านใต้หน้าสุดเป็นอาคารรังสีกรรม (อาคาร 12 ) ถัดไปเป็นอาคารผู้ป่วยศัลยกรรมชาย (อาคาร 11) อาคารพิเศษ (อาคาร 10) หลังสุดคืออาคารผู้ป่วยอายุรกรรมชาย (อาคาร 9) อาคารเหล่านี้มีทางเดินติดต่อถึงกันแต่ไม่มีหลังคา จะเห็นได้ว่าหมายเลขอาคารไม่เรียงลำดับกันนัก อาคาร 14 ซึ่งเป็นอาคารพยาธิกรรมสร้างหลังสุด จึงอยู่ด้านหลังอาคาร 8 ส่วนอาคาร 13 เป็นห้องดับจิต อยู่ท้ายสุด ส่วนอาคารที่สร้างขึ้นตอนหลังไม่ได้เรียกเป็นหมายเลขแต่ตั้งชื่อตามผู้บริจาค
 

           

            อาคารทางทิศใต้ที่สร้างเพิ่มเติมขึ้น ได้แก่ อาคารห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน อาคารเมืองมณี อาคารธนาคารทหารไทย อาคารจันทรุเบกษา อาคารทองหล่อทรงสอาด และอาคารสลากกินเบ่ง 1 และ  2 โดยอาคารธนาคารทหารไทยชั้นบนเป็นหออภิบาลผู้ป่วยหนักทุกประเภท มี 5 เตียง ชั้นล่างเป็นห้องพักแพทย์เวร ส่วนอาคารที่เหลือเป็นอาคารผู้ป่วยพิเศษ

           

             ทางทิศเหนือของโรงพยาบาลมีอาคารเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาคารแผนกกายภาพบำบัด อาคารสลากกินแบ่ง 3 เป็นหอผู้ป่วยศัลกรรมหญิง และอาคารอายุรกรรมชาย ย้ายหอผู้ป่วย จักษุ โสต ศอ นาสิกกรรมจากอาคาร 6 ไปอยู่อาคาร 9 แทน สำหรับอาคาร 6 และอาคาร 4 เปลี่ยนเป็นหอผู้ป่วนอายุรกรรม และกุมารเวชกรรม ตามลำดับ

           

             ทางทิศตะวันออกของโรงพยาบาล มีอาคาร 2 ชั้นเพิ่มขึ้น คือ อาคาร 8 ข และเปลี่ยนชื่ออาคาร 8  เดิมเป็นอาคาร 8 ก โดยอาคารหลังใหม่นี้ เป็นหอผู้ป่วยสูตินรีเวชกรรม
 
 
         การแยกหออภิบาลผู้ป่วยหนักอุบัติเหตุและศัลยกรรม มาไว้ตึกเชื่อมต่ออาคาร 1 และอาคาร 2 ติดกับห้องฉุกเฉิน ซึ่งมีเนื้อที่กว้างขวาง บรรจุเตียงผู้ป่วยได้ 10 เตียง ทำให้สถานที่ให้การรักษาผู้ป่วยหนักศัลยกรรม อยู่ใกล้ชิดกัน ที่อาคารธนาคารทหารไทยเปลี่ยนเป็นหออภิบาลอายุรกรรม

         18  กันยายน  2517  ทางโรงพยาบาลได้เปิดใช้อาคารสลากกินแบ่งรัฐบาล 8 ชั้น หลายหน่วยงานได้ย้ายไปที่อาคารนี้ โดยชั้น 1 เป็นของกองตรวจโรคผู้ป่วยนอก ชั้น 2 เป็นห้องผ่าตัดและกองศัลยกรรม ชั้น 3 เป็นห้องสมุดและห้องประชุมโรงพยาบาล ชั้น 4 เป็น

 
 

       หออภิบาลผู้ป่วยหนักศัลยกรรม และไฟไหม้น้ำร้อนลวก 14 เตียง และห้องพักผู้ป่วยพิเศษ   ชั้น 5 เป็นหอผู้ป่วยทางเดินปัสสาวะและผู้ป่วยศัลยกรรมประสาท ชั้น 6 เป็นหอผู้ป่วย ออร์โธปิดิกส์ ชั้น 7 เป็นหอผู้ป่วยศัลยกรรม ชั้น 8 เป็นห้องพักแพทย์ฝึกหัดและแพทย์ประจำบ้าน ..

          
 
 
                                     
 
 
 
 
 
 




 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
อาคารคุ้มเกล้าฯ - ความฝันที่เป็นจริง

           

 
 
 
          กลางปี    พ.ศ. 2520       ในการประชุมหน่วยขึ้นตรงของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช       พลอากาศตรี เทอญ สุขะเนนย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในขณะนั้น    ได้ปรารภขึ้นว่า  โรงพยาบาลนี้ได้รับพระบรมราชานุญาติให้ใช้พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นชื่อโรงพยาบาล อันนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้น ในโอกาสที่โรงพยาบาลมีอายุครบ 30 ปี ในวันที่ 27  มีนาคม พ.ศ. 2522                จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะกราบถวายบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นศิริมงคลอีกสักครั้งหนึ่ง คณะแพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลต่างชื่นชมและเห็นพ้องด้วย

           

          นาวาอากาศเอก ประกอบ บุรพรัตน์  ผู้อำนวยการกองตรวจโรคผู้ป่วยนอกในขณะนั้น เสนอว่า การที่จะกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินมายังโรงพยาบาล   ควรจะเนื่องในโอกาสสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น     พิธิเปิดอาคารใหม่ของโรงพยาบาล หรือสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประดิษฐาน ณ โรงพยาบาลเพื่อเป็นมิ่งมงคล

           

          จากการปรึกษาหารือในครานั้น   พลอากาศเอก พะเนียง กานตรัตน์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ   จึงได้นำหนังสือ กราบบังคมทูลฯขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินขึ้นใหม่  ในโอกาสที่โรงพยาบาลได้เปิดบริการมาครบ 30 ปี ในวันที่ 27 มีนาคม 2522   พร้อมทั้งขอพระราชทานนามของอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินที่จะสร้างขึ้นใหม่ด้วย วันที่ 2 พฤศจิกายน 2521   สำนักราชเลขาธิการได้แจ้งมาให้ทราบว่า   ตามที่ผู้บัญชาการทหารอากาศได้ขอพระราชทานนามอาคารโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ที่จะสร้างใหม่นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอาคารดังกล่าวว่า "คุ้มเกล้าฯ"

 

 

 
การดำเนินงานก่อสร้างอาคารคุ้มเกล้าฯ

           

             ทางโรงพยาบาลได้กำหนดบริเวณที่จะวางศิลาฤกษ์  ตรงที่จะสร้างพระแท่น     สำหรับประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช        ซึ่งจากการคำนวณอย่างถี่ถ้วน ปรากฏว่าอยู่ในห้องโถงของอาคาร 1 ถือฤกษ์   วันพฤหัสบดีที่ 27  มีนาคม  2523  เวลา  05.59  นาฬิกา

           

             อาคารคุ้มเกล้าฯ เป็นอาคารราชการที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น มีที่ในก่อสร้างถึง 70,000 ตารางเมตร เฉพาะ 3 ชั้นล่างรวมทั้งชั้นใต้ดินมีเนื้อที่ชั้นละ 6 ไร่ครึ่ง

           

             พลอากาศเอก พะเนียง กานตรัตน์ ผู้บัญชาการทหารอากาศขณะนั้น จึงได้มีคำสั่งให้นายแพทย์ทหารอากาศ 3 ท่าน คือ นาวาอากาศเอก ประกอบ บุรพรัตน์, นาวาอากาศเอก กิตติ เย็นสุดใจ และนาวาอากาศเอก ประพัตรา ตัณฑ์ไพโรจน์ ไปดูงานโรงพยาบาลที่ทันสมัยในสหรัฐอเมริกา

           

            ในคณะแพทย์ที่ไปดูงานนี้ได้พาสถาปนิกผู้ออกแบบคือ นายเยี่ยม วงษ์วานิช เดินทางร่วมคณะไปด้วย จากการออกแบบสร้างอาคาร ได้ว่าจ้าง บริษัท ไทยกรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ออกแบบตัวอาคารได้ติดต่อเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ขอผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำและวางแผน ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาได้ส่ง          Mr. Thomas S. Hargest มาเป็นที่ปรึกษาทางการแพทย์ และบริษัทไทยกรุ๊ป ได้ว่าจ้างวิศวกรจากบริษัท Chess North Carolina ซึ่งเป็นบริษัทวางแผนออกแบบสร้างโรงพยาบาลโดยเฉพาะ มาเป็นที่ปรึกษาอีกทางหนึ่งด้วย

           

             การก่อสร้างอาคาร บริษัท ช.การช่าง-โตกิว คอนสตรั๊คชั่น จำกัด ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการ ให้ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารคุ้มเกล้าฯ ในวงเงิน 277,800,000 บาท กำหนดสร้างเสร็จประมาณปลายปี  2527  และเมื่อรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมทั้งการตกแต่งอาคาร เป็นเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 900 ล้านบาทเศษ

    

            


           

 

     

                  
 
 
พระราชทานอาคารคุ้มเกล้าฯ

           

            ในวันที่  3  เมษายน  2528  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  มายังโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับการน้อมเกล้าฯ ถวายอาคารคุ้มเกล้าฯ จากมูลนิธิคุ้มเกล้าฯในพระบรมราชูปถัมภ์ และพระราชทานอาคารดังกล่าวแก่  โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช

           

            นับตั้งแต่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชได้เปิดใช้อาคารคุ้มเกล้าฯ ตั้งแต่ พ.ศ.2528 เป็นต้นมา ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องกิจการแพทย์ของกองทัพอากาศเจริญรุ่งเรืองในระดับแนวหน้าของประเทศ ทั้งด้านวิชาการ และการศึกษา มีการนำเอาวิทยาการใหม่ ๆ เช่น การใช้ระบบคอมพิวเตอร์ มาใช้ในงานของโรงพยาบาลอย่างสมบูรณ์แบบ เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 มีการขยายการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพิ่มขึ้นอีกหลายสาขารวมทั้งเปิดการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางต่อยอด ...


 

ขอขอบคุณหนังสือ 60 โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช

 

  Hits: 12380 Rating( ) ( 23 vote) [Rate it.]  

    เนื้อหาในหมวดนี้  
 
 เครื่องหมายโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ (24/7/2560)
 74 ปี โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช พอ. (23/1/2556)
 มูลนิธิคุ้มเกล้าฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (5/5/2552)
 มูลนิธิโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช (25/3/2558)
จำนวน 4 เนื้อหาทั้งหมด หน้าที่   [ ]  
  เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง  
สื่อประสมที่เกี่ยวข้อง