โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ
documentation    คำแนะนำการใช้บริการ    สิทธิ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ
สื่อประสมที่เกี่ยวข้อง

คำถามที่ถามบ่อย | FAQ

คำถาม : ไม่มี พ.ร.บ.
รายละเอียด : ผู้ประสบภัยขี่จักยานยนต์ไม่มีพ.ร.บ. โรงพยาบาลจะเรียกเก็บเงินจากใครใช้เอกสารอะไรบ้าง และถ้าผู้ประสบภัยจ่ายเงิน จะเรียกเงินคืนได้จากที่ใดหรือไม่
 
คำตอบ : ผู้ประสบภัยที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่มี พ.ร.บ. สามารถไปใช้สิทธิขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น(ค่ารักษาพยาบาลตามความเป็นจริง แต่ไม่เกิน 15,000บาท) ได้จากสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ (ซึ่งก็คือกรมการประกันภัย และสำนักงานประกันภัยจังหวัดทั่วประเทศ) ในกรณีที่เป็นสถานพยาบาลต้องให้ผู้ประสบภัยเซ็นมอบอำนาจให้ในใน บ.ต.๒ ด้วย สำหรับเอกสารประกอบที่ต้องใช้ได้แก่ ใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการแจ้งหนี้ และสำเนาบันทึกประจำวันของตำรวจ สำเนาบัตรประชาชนของผู้ประสบภัย ซึ่งในกรณีนี้เนื่องจากรถไม่มีประกันภัย กองทุนจ่ายค่าเสียหายให้ผู้ประสบภัยไปก่อนแล้วจะไปไล่เบี้ยคืนจากเจ้าของรถ โดยบวกเงินเพิ่มอีก 20% พร้อมทั้งปรับเจ้าของฐานฝ่าฝืนไม่ทำประกันภัย และผู้ขับขี่ฐานนำรถที่ไม่มีประกันภัยมาใช้อีกคนละไม่เกิน 10,000 บาท
คำถาม : หลักฐานการขอเบิกค่าสินไหมทดแทนนอกเหนือจากค่าเสียหายเบื้องต้น
รายละเอียด : กรณี นาย ก. ขับขี่รถจักรยานยนต์ เฉี่ยวชนรถยนต์ที่จอดอยู่ข้างถนน แล้วรถจักรยานยนต์ล้มลง นาย ก. ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย นาย ข. เป็นผู้ซ้อนท้าย ได้รับบาดเจ็บสาหัส (ขาหัก) พนักงานสอบสวนไปตรวจสถานที่เกิดเหตุและลงประจำวันไว้ และระบุว่า นาย ก. เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยประมาท แต่มิได้ทำการเปรียบเทียบปรับ ต่อมานาย ก. และนาย ข. ได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นตามประกันภัย พ.ร.บ. ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ นาย ข. มีความประสงค์ที่จะขอเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนอกเหนือจากค่าเสียหายเบื้องต้นเพิ่มเติม เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำนวนมาก พอไปติดต่อกับบริษัทที่รับประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อขอเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ก็ได้รับแจ้งว่า ต้องนำหลักฐานที่พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับ นาย ก. ว่าขับขี่รถจักรยานยนต์โดยประมาท มาแสดงก่อน จึงจะดำเนินการให้ได้ เมื่อไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อขอหลักฐานการเปรียบเทียบปรับ พนักงานสอบสวนก็ไม่ออกให้ กรณีเช่นนี้ นาย ข. ควรจะดำเนินการอย่างไรจึงจะขอเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกับบริษัทรับประกันภัยได้ครับ

คำตอบ : ต่อกรณีดังกล่าวนั้นอยากทำความเข้าใจในขั้นแรกนี้คือ ค่าเสียหายเบื้องต้นนั้นเป็นการจ่ายโดยที่ไม่ต้องรอพิสูจน์ว่าใครเป็นฝ่ายผิดจะเห็นได้จากคำถามนั้นทางบริษัทได้ทำการจ่ายให้ไปก่อน ส่วนค่าเสียหายส่วนเกินจากเบื้องต้นนั้น ทางบริษัทประกันภัยจะจ่ายได้ต่อเมื่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความรับผิดของผู้ขับขี่รถประกันภัยดังนั้นจากคำถาม นาย ข จะเบิกค่าเสียหายส่วนที่เกินจากเบื้องต้นนั้นจึงต้องมีเอกสารที่แสดงถึงความผิดของนาย ก ซึ่งเป็นผู้ขับขี่ตามที่ผมได้เรียนให้ทราบแล้ว และหลักฐานที่สามารถแสดงได้คือ 1.ประจำวันที่มีการเปรียบเทียบปรับแล้ว หรือ 2. บันทึกประจำวันที่ไม่มีการเปรียบเทียบปรับแต่ผู้ต้องหาให้การสารภาพยอมรับว่าเป็นความผิด(เพราะบางคดีนั้นพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับ) หรือ 3.บันทึกยอมรับผิดของผู้ขับขี่รถที่ได้ทำขึ้นกับทางบริษัทประกันภัย ทั้งสามกรณีหากมีอย่างใดอย่างหนึ่งก็สามารถนำไปแสดงเพื่อขอรับค่าเสียหายส่วนเกินเบื้องต้นได้แล้ว...อย่างก็ตามบริษัทประกันภัยเองก็ควรมีการตรวจสอบหรือสอบสวนถึงพฤติการณ์แห่งคดีว่าผู้ขับขี่รถประกันภัยของตนเองนั้นเป็นฝ่ายผิดหรือไม่ซึ่งหากพฤติการแห่งคดีชี้ชัดว่าผู้ขับขี่เป็นฝ่ายประมาทก็สามารถชดใช้ส่วนเกินนั้นได้แล้ว
คำถาม : เคลมประกันได้หรือไม่กรณีผู้ขับไม่มีใบขับขี่
รายละเอียด : 1.เช่ารถยนต์เก๋งมาไม่มีสัญญาใดๆมีเพียงการจ่ายเช็คในนามเจ้าของรถผู้เช่าขับไม่มีใบขับขี่ 2.เกิดอุบัติเหตุขับชนท้ายรถพ่วง 04.30 น.จนท.ตร.แจ้งว่าเป็นผู้ผิด 3.รถยนต์คันที่ขับไปชนมี พรบ.ประเภท1 4.เจ้าของรถพ่วงไม่เอาเรื่องและตำรวจให้ทำบันทึกยอมความต่างคนต่างซ่อมแล้วปล่อยรถพ่วงไป อย่ากทราบว่า 1.ใครจะต้องร่วมจ่ายค่าเสียหายในการซ่อมรถยนต์คันที่เช่า 2.เคลมประกันได้หรือไม่

คำตอบ : สวัสดีครับคุณสุกรี สำหรับคำถามของคุณสุกรีในข้อนี้ มิสเตอร์พ.ร.บ.จะขอตอบอย่างนี้นะครับว่า ถ้าหากผู้ขับขี่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่ กรมธรรม์ภาคสมัครใจประเภทที่ 1 จะไม่คุ้มครองความเสียหายของตัวรถที่ทำประกันถ้าหากขณะเกิดอุบัติเหตุนะครับ และผู้เช่าที่เป็นผู้ขับขี่และเป็นผู้กระทำความผิดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายของตัวรถคันดังกล่าวด้วยนะครับ ซึ่งบริษัทประกันภัยจะไม่รับผิดชอบในส่วนนี้ ผู้เช่าที่เป็นผู้ขับขี่และเป็นผู้กระทำความผิดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายดังกล่าวเองครับ มิสเตอร์ พ.ร.บ.คงต้องขอตอบคำถามคุณสุกรีเพียงเท่านี้นะครับ สวัสดีครับ
คำถาม : รถยกเว้น
รายละเอียด : ถ้ารถนั้นเป็นรถยกเว้นไม่ต้องทำ พ.ร.บ.เมื่อชนแล้วมีผู้บาดเจ็บใครจ่ายค่าเสียหายคะแล้วถ้ากองทุนทดแทนจ่ายให้แล้วไล่เบี้ยเรียกเก็บกับหน่วยงานนั้นหรือเปล่าเช่นรถบัสของทหาร แล้วผู้โดยสารที่บาดเจ็บจะได้วงเงินคุ้มครองถึง 50,000และ80,000บาท เหมือนรถที่ทำ พ.ร.บ.หรือไม่ แล้ใช้เออกสารใดบ้างในการขอรับเงิน

คำตอบ : ถ้าได้รับบาดเจ็บจากรถยกเว้น ผู้ประสบภัยจากรถจะต้องเรียกร้องจากผู้ขับขี่หรือหน่วยงานที่ได้รับยกเว้นโดยตรง หากผู้ขับขี่หรือหน่วยงานดังกล่าวปฎิเสธการจ่าย ผู้ประสบภัยก็สามารถขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น (ค่ารักษาพยาบาลตามความเป็นจริงไม่เกิน 50,000 บาท หรือค่าปลงศพ 35,000 บาท) ได้จากกองทุนทดแทนฯ เอกสารที่ใช้ได้แก่ 1.เอกสารแสดงตน เช่นบัตรประชาชน 2.ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล 3.บันทึกประจำวันของ จนท.ตำรวจ (สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สายด่วยประกันภัย 1186)
คำถาม : เบิกได้กี่ครั้ง
รายละเอียด : ถูกรถชนขณะเดินไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้วค่ารักษาโรงพยาบาลเรียกเก็บกับบริษัทประกันรถคันที่ชน 10,000 บาท ต่อมาแพทย์นัดมีค่าใช้จ่ายอีกเอาไปเบิกได้หรือไม่  เบิกได้อีกไม่เกินวงเงินเท่าไร  มีระยะเวลาสิ้นสุดหรือไม่แพทย์นัดทุกเดือน และถ้าอีก 2เดือนต่อมาแผลไม่ดีแพทย์นัดผ่าตัดใหม่จะใช้สิทธ์ พ.ร.บ.ฯได้อีกหรือไม่

คำตอบ : ในกรณีนี้ผู้ประสบภัยสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลที่เกี่ยวเนื่องจากอุบัติเหตุจากรถ โดยไม่ได้จำกัดจำนวนครั้ง แต่จะจำกัดค่ารักษาพยาบาลรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 50,000 บาท หากปรากฏว่ารถคันที่ชนนั้นเป็นฝ่ายผิด ซึ่งตามปกติหากรถชนคนเดินถนน ก็มักจะผิดอยู่แล้วครับ แต่หากรถคันนั้นไม่ได้เป็นฝ่ายผิด ก็สามารถขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นได้ไม่เกิน 15.000 บาท
คำถาม : ระยะเวลายื่นขอค่าสินไหมทดแทนเบื้องต้น
รายละเอียด : ขอบคุณมากนะคะที่ให้คำตอบ  อยากถามเพิ่มเติมอีกว่าระยะเวลายื่นขอค่าสินไหมทดแทน นอกเหนือจากค่าเสียหายเบี้องต้นมีกำหนดระยะเวลาเท่าไร  และเอกสารที่คุณตอบมาในข้อที่แล้ว  มีครบหมดแล้ว  นอกเหนือจากสำเนาถ่ายเอกสารรายงานผลคดีสิ้นสุดที่สถานีตำรวจ  คู่กรณีเป็นฝ่ายผิด  เหตุเกิดเมื่อต้นเดือน  กรกฎาคม   46  และผลคดีสิ้นสุดเมื่อ  สิ้นเดือน  กันยายน  2546  ขอทราบคำตอบด้วยนะค่ะ

คำตอบ :
สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันวินาศภัยมีกำหนดเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882) กรณีของคุณผู้ประสบภัย เกิดเหตุต้นเดือนกรกฎาคม 2546 จึงต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมจากบริษัทประกันภัย ภายในต้นเดือนกรกฎาคม 2548 ครับ
คำถาม : รถซาเล้ง ต้องทำ พ.ร.บ. หรือไม่
รายละเอียด
: รถซาเล้ง ต้องทำ พ.ร.บ.หรือไม่คะ เพราะมีผู้ประสบภัยจากรถ ขี่ซาเล้งที่ดัดแปลงมาจากรถจักรยานยนต์ ตกถนน บาดเจ็บเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล  จะขอใช้สิทธิ บัตรประกันสุขภาพถั้วนหน้าต่อ  แต่ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หมวด 1 มาตรา 12 ให้ใช้สิทธิ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถก่อน  กรณีนี้ เข้าข่ายเรียกเก็บที่กองทุนทดแทนได้หรือไม่  เคยสอบ โทร.ถามที่กรมการประกันภัย แล้ว จนท. ถามว่า รถนั้นอยู่ในระบบขนส่งหรือไม่ เลยตอบว่าเป็นรถเก่า  ไม่มีทะเบียน ทาง จนท.จึงตอบว่าไม่เข้ากรณ๊ต้องทำ พ.ร.บ. ไม่ทราบว่าข้อมูลนี้ถูกต้องหรือไม่ กรุณาชี้แจงให้หายสงสัยด้วยนะคะ  และอีกกรณีคือรถชอปเปอร์ เจ้าของรถอ้างว่า รถโบราณ  ไม่มีทะเบียน  จึงไม่ทำ พ.ร.บ. กรณีนี้ เจ้าของรถผิด ตาม พ.ร.บ. ขนส่งหรือไม่และรถคันนี้ต้องทำ พ.ร.บ.หรือไม่  ขอบคุณค่ะ  

คำตอบ : สวัสดีครับ
สำหรับคำถามนั้น มิสเตอร์ พ.ร.บ. ได้ค้นหาคำตอบมาได้แล้วครับ
    
รถจักรยานยนต์ที่ดัดแปลงมาจากรถซาเล้ง ไม่ถือเป็นรถตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ตามมาตรา 5 (ค)  แต่ถือเป็นรถตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 “รถ” และรถจักรยานยนต์”  และต้องจัดให้มีการจดทะเบียนด้วยตาม มาตรา 6      เนื่องจากรถจักรยานยนต์ที่ดัดแปลงมาจากรถซาเล้งนั้น เป็นรถที่มีไว้ใช้เพื่อความสะดวกในการเดินทาง และหากจดทะเบียนไว้ก่อนวันที่ 5 เมษายน 2536   ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535  อนุโลมให้เจ้าของรถดังกล่าวไม่ต้องจัดทำ พ.ร.บ.คุ้มครองฯ เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน (นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2536) ซึ่งจะครบในวันที่ 22 มีนาคม 2538  ฉะนั้น ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2538 รถประเภทนี้จำต้องจัดทำ พ.ร.บ.คุ้มครองฯ  ทุกคัน เพราะสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันตามกฎกระทรวง  หากฝ่าฝืนมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองฯ มาตรา 37 มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และเมื่อนำไปใช้ด้วยย่อมมีความผิดตาม มาตรา 39 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท อีกกระทงหนึ่งด้วยเช่นกัน   ดังนั้น หากรถคันดังกล่าวเกิดเหตุและมีผู้บาดเจ็บ ก็ต้องดูว่ามีการจัดทำ พ.ร.บ.คุ้มครองฯ หรือไม่  หากไม่จัดทำก็สามารถใช้สิทธิกับกองทุนทดแทนได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองฯ มาตรา 23
    
กรณีรถชอปเปอร์นั้น ถือเป็นรถตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 “รถ” และรถจักรยานยนต์”  และต้องจัดให้มีการจดทะเบียนด้วยตาม มาตรา 6 หากฝ่าฝืนมีความผิดตาม มาตรา 59 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท  เว้นแต่เป็นรถที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียน ตาม มาตรา 8  ฉะนั้น การที่เจ้าของอ้างว่าเป็นรถโบราณ ไม่มีทะเบียน จึงไม่ถูกต้อง เพราะรถโบราณมิได้เป็นรถที่ได้รับการยกเว้นมิให้จดทะเบียน  เว้นแต่เจ้าของรถแจ้งการไม่ใช้รถ ตาม มาตรา 8 (4)  ซึ่งหลักเกณฑ์แจ้งการไม่ใช้รถเป็นไปตาม กฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2524) ออกตามความ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522  คือต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่จดทะเบียนไว้ และ ให้มีผลใช้ได้ครั้งละไม่เกิน 2 ปี เว้นแต่เป็นการแจ้งการไม่ใช้รถตลอดไป  ดังนั้น เมื่อรถชอปเปอร์เป็นรถตาม พ.ร.บ.รถยนต์ จึงต้องมีการจัดทำประกันภัย เมื่อฝ่าฝืนไม่ทำย่อมมีความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ และมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองฯ ด้วยครับ (เหตุผลเช่นเดียวกับซาเล้งที่ดัดแปลงมาจากรถจักรยานยนต์)
คำถาม : ประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซด์คว่ำ ขาหัก ไม่มีคู่กรณี
รายละเอียด : ประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซด์คว่ำ ขาหัก ไม่มีคู่กรณี จะสามารถขอเบิกค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ และต้องเตรียมหลักฐานอะไรบ้าง

คำตอบ :
สวัสดีครับ ในกรณีที่รถคันที่เกิดอุบติเหตุมีประกันภัยพรบ. สามารถขอรับค่าสินไหมทดแทนได้จากบริษัทที่รับประกันภัยไว้ โดยนำเอกสารต่อไปนี้ไปขอรับค่าสินไหมทดแทนคือ
1.  สำเนาทะเบียนรถคันที่เกิดเหตุหรือป้ายวงกลม
2.  กรมธรรม์ประกันภัยหรือเครื่องหมายพรบ.
3.  แจ้งการเกิดอุบัติเหตุกับสถานีตำรวจที่เกิดเหตุและขอคัดบันทึกประจำวันที่เจ้าพนักงานลงบันทึกการเกิดเหตุ 
นำเอกสารทั้งหมดข้างต้นไปติดต่อขอรับค่าสินไหมทดแทนกับบริษัทที่รับประกัยภัยไว้ หรือมาติดต่อที่บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ทุกสาขาใกล้บ้านทั่วประทศ หรือโทร 1356
ข้อมูลจาก บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
13/11/2552


  Hits: 1395 [Rate it.]  

    เนื้อหาในหมวดนี้  
 
 กรณีผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถ“สูญเสียอวัยวะ,ทุพพลภาพอย่างถาวร หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง”ประกันภัย พ.ร.บ.คุ้มครองอย่างไร? (28/9/2563)
 พรบ. มอเตอร์ไซค์ ให้ความคุ้มครองอย่างไร (3/9/2562)
 เกิดอุบัติเหตุจากรถรีบแจ้งบริษัทกลาง/บริษัทประกันภัยทันที (3/9/2562)
 พรบ. คุ้มครองอะไรบ้าง (3/9/2562)
 ตรวจสอบอย่างไรว่าเป็นกรมธรรม์ พ.ร.บ. จริง (30/7/2562)
 การเบิกประกันภัย พ.ร.บ. (30/7/2562)
 เจ็บจากรถ หมดกังวล พ.ร.บ.จ่าย กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร-สูญเสียอวัยวะ (30/7/2562)
 เจ็บจากรถ หมดกังวล พ.ร.บ.จ่าย กรณีบาดเจ็บ-นอนรักษาตัวใน รพ. (30/7/2562)
 เจ็บจากรถ หมดกังวล พ.ร.บ.จ่าย (30/7/2562)
 ความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. (16/1/2562)
จำนวน 29 เนื้อหาทั้งหมด หน้าที่   [ 1  2  3  >  >> ]  
สื่อประสมที่เกี่ยวข้อง