โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ
หน่วยงานสนับสนุนและบริการ  ศูนย์คอมพิวเตอร์    ข้อมูลหน่วย

ผลการปฏิบัติงาน ในอดีต


       มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้งานในโรงพยาบาลอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2528 จนถึง ปัจจุบันซึ่งนับเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งแรกๆ ที่มีระบบสารสนเทศมาใช้อย่างครบวงจร ทั่วทั้งโรงพยาบาล ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว  ลดขั้นตอนของเอกสาร  และสามารถนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้อย่างแพร่หลายในทุกหน่วยงานที่มีการดูแลรักษาผู้ป่วย  โดยในช่วงแรกศูนย์คอมพิวเตอร์ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่โรงพยาบาลในการเป็นตัวอย่างและแนวทางให้แก่โรงพยาบาลอื่นๆ ที่มาดูงานนำไปใช้ในการพัฒนาระบบสารสนเทศในโรงพยาบาลอื่นๆ อีกหลายแห่ง  นอกจากนี้ยังได้รับเชิญจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (“NECTEC”) ร่วมแสดงนิทรรศการในงาน”ไอทีเฉลิมพระเกียรติ” ณ. ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ เมื่อ 1 มิ.ย. 38 โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด และทอดประเนตรการสาธิต ระบบงานของโรงพยาบาลด้วย




      มีการพัฒนาโปรแกรมระบบงานห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอกและการเงินซึ่งสามารถสั่งยาโดยแพทย์ ผู้รักษาและส่งข้อมูลมาพิมพ์ฉลากยาที่ห้องยา และข้อมูลการชำระเงินไปจุดเก็บเงินซึ่งช่วยลดระยะเวลาในการรอคอยของผู้ป่วยและลดความแออัดบริเวณห้องจ่ายยาลงได้มาก  รวมทั้งลดความผิดพลาดจากการอ่านลายมือในใบสั่งของแพทย์ได้โดยการสั่งยาผ่านระบบคอมพิวเตอร์ อีกทั้งโปรแกรมที่พัฒนานี้ได้อำนวยความสะดวกให้แก่แพทย์ผู้ใช้งานในการตรวจสอบข้อมูลทางเภสัชกรรม การจ่ายยาตามสิทธิของผู้ป่วย รวมทั้งสามารถเก็บประวัติการใช้ยาไว้ตรวจสอบได้ด้วย  นับเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งแรกๆ ที่มีการสั่งยาผ่านระบบคอมพิวเตอร์จากห้องตรวจโดยตรง เป็นตัวอย่างให้อีกหลายโรงพยาบาลนำระบบการสั่งยาจากห้องตรวจโรคนี้ไปประยุกต์ใช้  


      จัดตั้งระบบเครือข่ายเพื่อจัดทำทะเบียนและพิมพ์บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อแจกจายแก่ประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบซึ่งประกอบด้วยเขตดอนเมือง, หลักสี่, สายไหม และบางเขน จำนวนประมาณ 350,000 ใบ  ซึ่งสามารถดำเนินการแล้วเสร็จทันตามกำหนดเริ่มใช้คือวันที่ 1 ต.ค. 44  และปัจจุบันยังคงให้บริการแก่ผู้ป่วยที่มาติดต่อขอทำบัตรเพิ่มเติม  นับเป็นงานสามารถสนับสนุนนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาลที่ได้มอบหมายให้เป็นโรงพยาบาลนำร่องดำเนินการจนสำเร็จลุล่วงโดยใช้บุคคลากรที่มีจำกัด

       จัดตั้งระบบเครือข่ายเพื่อบันทึกและรวบรวมข้อมูลการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในเพื่อจัดส่งข้อมูลใน รูปแบบแฟ้มข้อมูลอิเลคทรอนิกส์ตามรูปแบบที่สำนักงานสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขกำหนดโดยเริ่มใช้กับผู้ป่วยที่จำหน่ายกลับบ้านตั้งแต่ 1 เม.ย. 45  ผลที่เกิดขึ้นคือโรงพยาบาลสามารถจัดส่งข้อมูลเพื่อทำฎีกาเบิกค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในทันตามกำหนดและครบถ้วน

    

       ดำเนินการเช่าใช้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (Leased line) เพื่อให้ค้นหาตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าและรับ-ส่ง ฏีกาเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในโดยจะเชื่อมโยงเครือข่ายเป็นเครือข่ายเช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยบัตรประกันสุขภาพได้ทันทีตลอด 24 ชม. เพื่อความถูกต้องในการใช้สิทธิ์ผู้ป่วย รวมทั้งสามารถรับ-ส่งข้อมูลให้ (สกส.) ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว สามารถพัฒนาระบบเครือข่ายภายใน (INTRANET) เพื่อประโยชน์ในการติดต่อสื่อสารภายในและสืบค้นข้อมูลจากเครือข่ายภายนอกได้ด้วย

       พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์สำรองเพื่อใช้งานระหว่างรอการจัดหา ระบบคอมพิวเตอร์เครือข่ายทดแทนระบบเดิมซึ่งประกอบด้วย ระบบเวชระเบียน,ระบบการเงิน,ระบบเภสัชกรรม, ระบบรังสีกรรม, ระบบห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอก เพื่อบันทึกและรวบรวมข้อมูลการรักษาพยาบาลผู้ป่วยตามประเภทของสิทธต่าง ๆ เช่น ผู้ป่วยประกันสุขภาพ , ผู้ป่วยสิทธิโรครักษาต่อเนื่อง เพื่อจัดส่งข้อมูลในรูปแบบแฟ้มข้อมูลอิเลคทรอนิกส์ตามรูปแบบที่สำนักงานสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.)  

       จัดทำโครงการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์เครือข่าย เพื่อทดแทนระบบคอมพิวเตอร์เดิมซึ่งขณะนี้อยู่ ในขั้นตอนการประกวดราคาโดยประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย  2 ชุด และเครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่ายรวม 430 ชุด ได้มีการออกแบบเพื่อให้รองรับการนำข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำมาประมวลผลเป็นเครื่องชี้วัดในระดับต่าง ๆ ทำให้สามารถติดตามคุณภาพได้อย่างต่อเนื่องและสามารถเปรียบเทียบกับข้อมูลของโรงพยาบาลในระดับเดียวกันรวมทั้งสามารถเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ผ่านมาได้ โดยข้อมูลจะมีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
 

ขอขอบคุณ วราสารศูนย์คอมพิวเตอร์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช พอ.

 

  Hits: 839 [Rate it.]  

    เนื้อหาในหมวดนี้  
 
 พิธีการเปิดศูนย์คอมพิวเตอร์ (7/2/2552)
 ประวัติ ... ความเป็นมาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (10/7/2552)
จำนวน 2 เนื้อหาทั้งหมด หน้าที่   [ ]