โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ
documentation    หน่วยโภชนบำบัด   สาระน่ารู้


โภชนาการที่ดีในผู้สูงอายุ
นักโภชนบำบัดแนะ!! โภชนาการที่ดีในผู้สูงอายุ ทานอาหารครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้

 
      เพราะสุขภาพที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในผู้สูงวัยที่ควรใส่ใจเป็นพิเศษ บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด จึงจัดเสวนาเรื่อง “โภชนาการที่ดี สมวัยพ่อแม่” เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในวัยผู้สูงอายุ ณ บ้านจิม ทอมป์สัน ซอยเกษมสันต์ 2 

      ในงานครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนบำบัด จากประเทศสหรัฐอเมริกา Dr.Charlette Gallagher Allred, อ.ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพ (สหรัฐอเมริกา), อ.สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการสาธารณสุข ระดับ 9 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวง และ อ.ชาลี อมาตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารระดับสากล สาธิตเมนูอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ 3 เมนู คือ ซีซ่าร์สลัดแบบเอนชัวร์, พลอยกรอบเอนชัวร์ และผัดหมี่สำเร็จรูปกับผัก 

      Dr.Charlette Gallagher Allred ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนบำบัด จากประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ความชราเป็นสิ่งที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมักจะเกี่ยวโยงไปถึงการเปลี่ยนแปลงในทางสรีรวิทยาของร่างกาย มีสภาพการเสื่อมของระบบอวัยวะต่างๆ ทางองค์การอนามัยโลกได้ตั้งเกณฑ์ขึ้นเพื่อใช้กันทั่วๆ ไปว่า ผู้สูงอายุคือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งในปัจจุบันแนวโน้มของการเพิ่มประชากรกลุ่มนี้ จะมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งการจะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลานนั้น มักเป็นผลมาจากการเตรียมตัวที่ดีของท่าน ซึ่งโภชนาการจัดได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญในช่วงอายุนี้ การที่ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรือได้มากเกินไป จะมีผลซ้ำเติมอวัยวะต่างๆ ในร่างกายที่มีแนวโน้มจะเสื่อมอยู่แล้วให้เสื่อมมากขึ้น นอกจากนี้อุบัติการณ์การเกิดโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งโภชนาการจะมีผลต่อร่างกายทั้งสิ้น 

      โภชนาการในผู้สูงอายุ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่ 1 อาหารที่เหมาะสมสำหรับเมตะบอลิสซึม คือสารอาหารที่ได้รับเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน กลุ่มที่ 2 อาหารเพื่อช่วยให้มีสุขภาพดีและมีชีวิตยืนยาว เป็นการช่วยชะลอสุขภาพมิให้เสื่อมเร็ว และป้องกันไม่ให้เกิดโรคต่างๆ กลุ่มที่ 3 อาหารที่เหมาะสมกับโรค เช่น อาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคความดัน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน เป็นต้น 

      นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงสภาพการณ์ต่างๆ เช่น อาหารที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุในแต่ละสภาวะ และทรัพยากรธรรมชาติที่เรามีอยู่ ซึ่งสามารถดัดแปลงให้เหมาะสม โดยพิจารณาถึงคุณภาพและเศรษฐกิจของครอบครัวเป็นหลัก พร้อมกันนั้นควรต้องยอมรับด้วยว่าอาหารที่เหมาะสมสำหรับคนสูงอายุคนหนึ่ง อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับอีกคนหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหน้าที่ทางกายภาพ สภาพของระบบอวัยวะของแต่ละคน 

       Dr.Charlette Gallagher Allred กล่าวว่า ปัญหาที่ผู้สูงอายุกินอาหารได้น้อยลง มีสาเหตุมาจากปัญหาหลายประการ เช่น 1.เรื่องเหงือกและฟัน ทำให้เคี้ยวอาหารลำบาก ไม่อยากรับประทานอาหารที่ต้องเคี้ยว เช่น เนื้อสัตว์ หรือผักต่างๆ ทำให้ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย 2.ปุ่มรับรสอาหารที่ลิ้นเสื่อมและมีจำนวนลดลง ทำให้ทานอาหารได้น้อยลง หรือกินอาหารรสจัดขึ้น เช่น เค็มจัด ทำให้มีอาการบวม ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง 3.ปลายประสาทรับกลิ่นในจมูกทำหน้าที่ไม่ได้ดีเหมือนเดิม ทำให้ไม่สามารถได้กลิ่นอาหารบางชนิดที่เคยชอบ 4.ผู้สูงอายุมักจะกังวลและเศร้าในจิตใจ ซึ่งเกิดจากการสูญเสียเพื่อนหรือบุคคลที่เคยอยู่ร่วมกัน ลูกหลานไม่ดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร ความกังวลด้านเศรษฐกิจของตนเองและครอบครัว ทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายในชีวิต ไม่อยากรับประทาน 5.ตามธรรมชาติสมรรถภาพของร่างกายจะลดลงตามอายุ มีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะต่างๆ เช่น สายตาเสื่อม มีความพิการในการเคลื่อนไหวของมือ ขาและเท้า หรือพิการทางสมอง เช่น ผู้ที่เป็นอัมพาต ต้องได้รับความช่วยเหลือจากลูกหลาน ญาติพี่น้องและผู้ที่ใกล้ชิด

“ปัญหาของผู้สูงอายุในเรื่องอาหารการกิน จึงมีทั้งกินไม่ได้และกินไม่พอ ทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร เช่น การขาดแร่ธาตุแคลเซียม เหล็ก และขาดวิตามินต่างๆ แต่ถ้าผู้สูงอายุได้รับอาหารอย่างมากไป ไม่ถูกสัดส่วนก็อาจเกิดปัญหาเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไขมันอุดตันในหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง” 

       อ.สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการสาธารณสุข ระดับ 9 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะอุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สารอาหารที่ผู้สูงวัยต้องการ ไม่ได้แตกต่างจากวัยหนุ่มสาว เพราะร่างกายยังต้องการทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ และไขมัน เพียงแต่จะลดปริมาณลงบ้างเล็กน้อย 

       สาเหตุที่เน้นให้ผู้สูงวัยรับประทานผักและผลไม้ มีเหตุผลอยู่ 3 ประการคือ 1.ผลไม้มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด ที่กินเข้าไปแล้วร่างกายจะย่อยและดูดซึมไปใช้ให้เป็นประโยชน์ สร้างภูมิคุ้มกันโรค และทำให้มีชีวิตอยู่ได้เป็นปกติสุข 2.มีสารต้านมะเร็ง ในผักและผลไม้หลายชนิดมีวิตามินซีและเบต้าแคโรทีนสูง กินเข้าไปแล้วจะไปต้านไม่ให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งได้อย่างมาก 3.ผักและผลไม้มีใยอาหารหรือที่เรียกว่าไฟเบอร์สูง เมื่อกินเข้าไปแล้วร่างกายจะไม่ย่อยและไม่ถูกดูดซึม ไฟเบอร์จะทำหน้าที่เหมือนไม้กวาด ลากน้ำตาล ไขมัน สารก่อมะเร็ง สารพิษที่เรากินเข้าไปกับอาหารระหว่างมื้อออกไปเก็บไว้บริเวณลำไส้ใหญ่ รุ่งเช้ามาก็ขับถ่ายออกไป นั่นคือประโยชน์อันมหาศาลของผักและผลไม้ โดยผู้สูงวัยควรกินผักและผลไม้ประมาณวันละ 5-6 ทัพพี และควรจะเป็นผักสุก ผักลวก ผักนึ่ง และผักที่ดีที่สุดคือผักพื้นบ้าน 

       การดูแลสุขภาพคุณพ่อคุณแม่นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง สิ่งที่ควรถือปฏิบัติมีอยู่ 4 ประการคือ 1.พิจารณาลักษณะของอาหารที่จะให้คุณพ่อคุณแม่รับประทาน ควรเป็นอาหารที่มีคุณภาพ ในที่นี้หมายถึงครบ 5 หมู่ มีความหลากหลาย และพอเพียง 2.ส่งเสริมให้ท่านได้ออกกำลังกาย การออกกำลังกายในวัยผู้สูงอายุมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้มวลกระดูกแข็งแรง สุขภาพร่างกายดี หัวใจทำงานได้ตามปกติ 3.พาคุณพ่อคุณแม่ไปเที่ยวและพักผ่อนในสถานที่ท่านชื่นชอบ เช่น วัด หรือสถานที่ท่านอยากไป และ 4.ให้ท่านได้พักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ

 

แหล่งข่าว : หนังสือพิมพ์ บ้านเมือง


  Hits: 2119 [Rate it.]  

    เนื้อหาในหมวดนี้  
 
 กินอย่างไร... ให้ไกลมะเร็ง (22/6/2558)
 ต่อสู้มะเร็งร้าย ใส่ใจคุณภาพชีวิต (25/5/2555)
 กินเรื่องใหญ่ มะเร็งเรื่องเล็ก (11/4/2555)
 โภชนาการ...กับการรักษาโรคมะเร็ง (18/3/2554)
 ตารางเปรียบเทียบ อาหาร : ปริมาณโคเลสเตอรอล (28/10/2553)
 พืช ผัก ผลไม้ ป้องกันการเกิดมะเร็ง (7/9/2553)
 การคำนวณค่าบีเอ็มไอ (20/5/2553)
 อาหารในฤดูร้อน (31/3/2553)
 โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง (15/1/2553)
 กิน ...อาหารเฉพาะโรค (23/12/2552)
จำนวน 17 เนื้อหาทั้งหมด หน้าที่   [ 1  2  >  >> ]